หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

1. มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอะไรบ้าง?

1.1. เงื่อนไขในการสมัคร

• ผู้เอาประกัน : ต้องเป็นกรรมการที่มีชื่ออยู่ในหนังสือจดทะเบียนการค้า และต้องทำให้กรรมการทุกคน
• แบบประกัน : แบบตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ แบบบำนาญ และสามารถแนบสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ โรคร้ายแรง และอุบัติเหตุได้
• เบี้ยประกันที่สามารถทำได้ : ตามความเหมาะสม ไม่ให้มาเกินไป ซึ่งเหมาะสมเบื้องต้นคือ ระหว่าง 5% ของรายได้ หรือ 20% ของกำไรก่อนภาษี อย่างใดอย่างหนึ่งที่น้อยกว่า
• ผู้รับประโยชน์ : ทายาทของกรรมการ/กิจการ

1.2. เงื่อนไขทางภาษี

1.2.1. เบี้ยประกัน :

• กรรมการนำค่าเบี้ยประกัน (ที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) มาลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้
• กรรมการต้องนำค่าเบี้ยประกันมารวมเป็นเงินได้ เพื่อคำนวณเสียภาษีบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 40 (1)  

1.2.2. ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ : 

1.2.2.1. กรณีกรรมการเสียชีวิต

• ผู้รับประโยชน์เป็นทายาทของกรรมการ : ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
• ผู้รับประโยชน์เป็นบริษัท : ต้องนำเงินชดเชยจากประกันมารวมเป็นรายได้ของบริษัทเพื่อคำนวณเสียภาษีนิติบุคคล1.2.2.2. กรณีกรรมการมีชีวิตครบสัญญา
• เงินจ่ายคืนระหว่างกรมธรรม์ และเงินครบกำหนดสัญญา กรรมการไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา

2. เบี้ยประกัน Keyman หักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้หรือไม่ มีข้อจำกัดอย่างไร?หากเป็นการจ่ายเบี้ยประกันให้กรรมการทุกคนเป็นการทั่วไป ตามระเบียบและมติที่ประชุมของบริษัท ไม่เป็นการจ่ายเพื่อการส่วนตัวหรือให้โดยเสน่หา บริษัทสามารถนำเบี้ยประกันมาใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีบริษัทเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ บริษัทต้องนำค่าสินไหมทดแทน มาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีหรือไม่?บริษัทต้องนำค่าสินไหมหรือเงินได้จากการประกันภัย ไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

4. จำเป็นต้องทำประกันคีย์แมนให้กับกรรมการทุกคนหรือไม่?ควรทำให้กับกรรมการทุกคน เพื่อไม่ให้เข้าข่ายให้เป็นการส่วนตัว หรือโดยเสน่หา แต่หากมีกรรมการบางท่านที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากปัญหาสุขภาพหรืออายุเกิน ให้ทำรายงานการประชุมชี้แจงและแนบหลักฐานการปฏิเสธของบริษัทประกัน

5. บริษัทจ่ายภาษีทุกทอดสำหรับภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเบี้ยประกันให้กรรมการได้ไหม?สามารถทำได้

6. เบี้ยประกันคีย์แมนถือเป็นรายได้พึงประเมิน นำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรรมการหรือไม่?เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินค่าภาษีอากรที่บริษัทออกให้ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่กรรมการได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ซึ่งกรรมการจะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

7. กรรมการสามารถนำใบเสร็จค่าเบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายให้ มาเป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา ประจำปีได้หรือไม่?ได้เฉพาะในปีที่มีการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต

8. ผลประโยชน์/เงินสินไหมทดแทนกรณีกรรมการเสียชีวิตที่บริษัทยกให้ครอบครัวหรือทายาท เสียภาษีหรือไม่?ผลประโยชน์ที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายคืนระหว่างอายุกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือเงินสินไหมทดแทนกรณีการสูญเสียชีวิตของกรรมการที่ครอบครัวหรือทายาทเป็นผุ้รับประโยชน์ ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด หรือเงินได้จากการประกันภัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร

9. บริษัทจ่ายเบี้ยประกันให้ผู้ถือหุ้น ครอบครัวของกรรมการ ตลอดจนกรรมการบริษัทอื่น ที่มาถือหุ้นบริษัท ได้หรือไม่?ไม่ได้ เพราะเข้าข่ายลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว หรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

10. บริษัทนำกำไรสุทธิมาจ่ายเบี้ยประกันได้หรือไม่?ไม่ได้ เพราะถือเป็นรายจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร


06 กันยายน 2566

ผู้ชม 302 ครั้ง

Engine by shopup.com